วัดพระศรีสรรเพชญ์ พระอารามหลวงในสมัยกรุงศรีอยุธยา

wat phra si sanphet

วัดพระศรีสรรเพชญ์ เป็นวัดสำคัญที่สุดในสมัยกรุงศรีอยุทธยา มีจุดเด่นที่น่าสนใจคือ มีพระเจดีย์ใหญ่ 3 องค์ เป็นพระอารามหลวงในสมัยกรุงศรีอยุธยา ในสมัยอยุธยาตอนต้น ที่แห่งนี้เคยเป็นที่ตั้งของพระราชวังหลวงระยะแรก ก่อนที่จะย้ายไปอยู่ในบริเวณที่เป็นพระราชวังหลวงในปัจจุบัน แล้วสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ก็ทรงยกพระราชมณเฑียร ที่ประทับของพระมหากษัตริย์เดิมให้สร้างเป็นวัด เมื่อปี พ.ศ. 1991 ความสำคัญในอดีตของวัดพระศรีสรรเพชญ์นั้น เทียบเท่าได้กับวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แห่งกรุงเทพมหานคร และวัดมหาธาตุ แห่งกรุงสุโขทัย เป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจของพระมหากษัตริย์ ในการประกอบพิธีสำคัญต่างๆ อาทิ พิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา

สิ่งที่เห็นอยู่ในปัจจุบันเป็นซากปรักหักพัง มีปูนปั้นเศียรหักและหายไปจำนวนมาก หากมองจากมุมสูงจะเห็นห้องที่มีรูปแบบท้องพระโรง บริเวณใจกลางวัดเป็นที่ตั้งพระสถูปเจดีย์ 3 องค์เรียงกัน สลับด้วยมณฑป 3 หลังคั่นอยู่ เข้าใจว่าสร้างขึ้นในชั้นหลังในราวรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง มีร่องรอยการปฏิสังขรณ์อย่างน้อย 1 ครั้ง ในราวรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

พระเจดีย์

สิ่งก่อสร้างสำคัญวัดพระศรีสรรเพชญ์คือ พระเจดีย์ทรงระฆัง 3 องค์ ที่เรียงจากทิศตะวันออกไปยังทิศตะวันตก เป็นเจดีย์ทรงกรวยกลมแบบลังกาที่พบเป็นแห่งแรกในวัดสมัยอยุธยา เมื่อปี พ.ศ. 2035 สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเจดีย์ใหญ่ขึ้น 2 องค์ คือพระเจดีย์องค์ที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก เพื่อเป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระราชบิดา และเจดีย์องค์กลางบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 (พระเชษฐา) เมื่อถึงรัชกาล สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 (พระหน่อพุทธธางกูร) โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระเจดีย์ขึ้นอีก 1 องค์ เรียงต่อมาทางทิศตะวันตก เพื่อบรรจุพระอัฐิ ของ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ผู้เป็นพระบิดา

เจดีย์ศิลปะลังกา ฐานชั้นต้นเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสรองรับฐานเขียงทรงกระบอกหน้าตัด ถัดขึ้นไปเป็นฐานอีก 3 ชั้นซ้อนกันเป็นเครือเถา มีเจดีย์ทรงระฆังคว่ำหรือพระสถูป  ที่มีบัลลังก์อยู่ข้างบน มีก้านฉัตรหรือเสาหานที่มีลักษณะเป็นเสากลมเตี้ยๆ เพื่อรองรับและเทินฉัตร ตอนต้นของตัวฉัตรมีลักษณะเป็นปล้องกลมๆ เรียงซ้อน เรียกว่า ปล้องไฉน ส่วนปลียอดเรียวแหลมแบบเกลี้ยงๆ ตรงปลายสุดมีตุ่มกลมๆ เรียกว่า หยาดน้ำค้าง

watphrasisanphet

นอกจากนี้แล้วยังมีเจดีย์ราย ที่รายล้อมอยู่ทั้งหมด 33 องค์ ภายในมีการบรรจุพระบรมอัฐิของกษัตริย์ และอัฐิของพระบรมวงศานุวงศ์ วัดพระศรีสรรเพชญ์เป็นสถานที่บรรจุบรมอัฐิของพระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยาเกือบทุกพระองค์ก็ว่าได้ ตามหลักฐานพงศวดาร มีการบรรจุพระบรมอัฐิของกษัตริย์ไว้ถึง 8 พระองค์ เช่น สมเด็จพระนารายณ์, สมเด็จพระเจ้าปราสาทอง, สมเด็จพระเพทราชา, สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ และสมเด็จพระเจ้าเสือ

พระวิหาร

ปลายทางทิศตะวันตกของเจดีย์องค์สุดท้ายมีฐานพระวิหารจตุรมุข ตรงกลางมีพระเจดีย์บรรจุพระบรมอัฐิ ส่วนมุขทั้งสี่ด้านเชื่อว่าเคยมีพระพุทธรูป นั่ง ยืน นอน และเดิน ส่วนด้านทิศตะวันออกต่อกับเจดีย์องค์แรกเป็นวิหารสำคัญที่สุด เป็นวิหารหลวงที่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 โปรดให้สร้างขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2042 ต่อมาปี 2043 ก็ทรงโปรดให้สร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่ในพระวิหาร เป็นพระพุทธรูปที่ประทับยืนสูง 8 วา หรือประมาณ 16 เมตร แกนพระพุทธรูปสร้างจากทองสำริด ภายนอกหุ้มด้วยทองคำหนัก 286 ชั่ง หรือ หนักเท่ากับทอง 12,880 บาท (ประมาณ 171 กิโลกรัม) ถวายพระนามว่า พระศรีสรรเพชญ์ ตั้งแต่นั้นมาจึงเรียกชื่อวัดว่า วัดพระศรีสรรเพชญ์ ซุ้มท้ายวิหารที่เรียกว่า ซุ้มจระนำ ยังใช้เป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิของพระมหากษัตริย์อีกหลายพระองค์ อาทิ พระบรมอัฐิของสมเด็จพระเพทราชา

wat phrasisanphet

เล่ากันว่าเมื่อครั้งเสียกรุงในปี พ.ศ. 2310 นั้น ข้าศึกได้ใช้ไฟเผาลอกเอาทองคำทั้งหมดไป ต่อในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ทรงอัญเชิญชิ้นส่วนชำรุดที่บูรณะไม่ได้ของพระพุทธรูปองค์นี้ เข้าบรรจุไว้ในองค์พระเจดีย์องค์กลาง ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามหรือวัดโพธิ์ ทรงถวายพระนามพระมหาเจดีย์องค์นี้ว่า พระเจดีย์ศรีสรรเพชดาญาณ ถือพระมหาเจดีย์ประจำรัชกาลที่ 1

ด้านทิศเหนือของวิหารหลวงศรีสรรเพชญ์ เคยเป็นที่ประดิษฐานของ พระโลกนาถศาสดาจารย์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปยืนปางประทานอภัย สูง 10 เมตร หลังจากปฏิสังขรณ์เสร็จแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ก็ทรงอัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่พระวิหารด้านทิศตะวันออก มุขหลังชั้นใน วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือวัดโพธิ์

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น พระยาโบราณราชธานินทร์ สมุหเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่า ได้ดำเนินการขุดสมบัติจากรุภายในพระมหาเจดีย์ พบพระพุทธรูปและเครื่อทองคำมากมาย ต่อมาเมื่อปี 2475 มีการขุดพบพระบรมสารีริกธาตุ ที่บรรจุอยู่ภายในสถูป 7 ชั้น และในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้มีการบูรณะวัดนี้ จนมีสภาพอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

ที่ตั้ง : ถนนศรีสรรเพชญ์ ทางทิศเหนือของวิหารพระมงคลบพิตรในเขตอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา